(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")
ตลาดน้ำดอนหวายเปิดทุกวันตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น แต่ในวันหยุด พ่อค้าแม่ค้าจะมาเต็มทุกแผงและผู้คนก็คึกคักเป็นพิเศษ เราสามารถเข้าออกตลาดน้ำแห่งนี้ได้ 2 ทางคือ ซอยศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ยและลานจอดรถของวัดดอนหวาย
ทีมงานขอแบ่งเป็น 5 โซนด้วยกัน เริ่มจากโซนแรกบริเวณถนนในซอย(ก่อนเข้าตรอกข้างศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย)กัน ข้างถนนซ้ายมือมีเต็นท์หลังใหญ่ ภายในมีแผงลอยหลายเจ้า ส่วนช่องทางเดินจัดเรียงไม่แน่นอน ถัดจากเต็นท์ใหญ่ไปจะเป็นบ้านเรือนที่ตั้งแผงอยู่หน้าบ้าน ส่วนขวามือเป็นอาคารชั้นเดียวแบ่งเป็นห้อง โดยบางห้องก็เปิดหน้าร้าน แต่บางห้องก็ไม่เปิด เมื่อมาสุดอาคาร จะมีตรอกเลี้ยวขวาเป็นทางช่วงสั้นๆ ซึ่งในตรอกนี้มีแผงสินค้าเช่นกัน สำหรับข้าวของตลอดทางก็มีเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิว อาหารทั่วไป เครื่องครัว ของทอด เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าสตรี ชากาแฟ พันธุ์ไม้ เสื้อที่ระลึกตลาดน้ำดอนหวาย ของใช้ในบ้าน อุปกรณ์นวดกล้ามเนื้อ ผลไม้ ของแห้ง เครื่องประดับสตรี ผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลไม้หั่นชิ้น ชากาแฟ และของกินเล่น
จากนั้นก็มาถึงศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย ซึ่งจะมีอยู่สองตรอกคือ ตรอกทางซ้ายเป็นบ้านไม้ตลาดเก่าที่ไม่ได้ของขายอะไร เป้าหมายของเราคือตรอกฝั่งขวา ซึ่งต่อจากนี้ไปถือเป็นโซนที่ 2 แล้ว โดยตรอกนี้คลุมหลังคาไม้มุงกระเบื้อง ทางเดินจะแคบโดยมีแผ่นพื้นปูนคอนกรีตสำเร็จรูปวางเรียงต่อกันตลอดทาง สำหรับโซนนี้แบ่งเป็นสองช่วงคือ ช่วงแรกเป็นทางตรงจากปากตรอกเข้ามา ฝั่งซ้ายเป็นบ้านไม้ที่มีแผงลอยอยู่หน้าบ้าน ส่วนฝั่งขวาเป็นบ้านปูนที่มีแผงหน้าบ้านเช่นกัน จากนั้นเส้นทางจะเบี่ยงไปทางขวาเล็กน้อย แล้วตรงต่อไป ซึ่งแถบนี้มีแต่แผงลอยทั้งสองข้าง เมื่อมาสุดทาง จะพบสามแยกที่เลี้ยวซ้ายหรือขวาก็ได้ โดยต่อจากนี้ถือเป็นช่วงที่สองของทางเดินสายแคบของโซน 2 ถ้าเลี้ยวซ้ายไป จะมีแผงลอยอยู่เล็กน้อยและมีบ้านไม้ริมน้ำที่เปิดหน้าร้านบางห้อง แต่ถ้าเลี้ยวขวาแทน ช่องทางนี้เป็นทางเดินแคบๆสายตรงที่ขนาบด้วยบ้านไม้และบ้านปูน โดยพื้นทางเดินยังเป็นแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปวางเรียงต่อกันอยู่ จากนั้นจึงเป็นพื้นปูนในช่วงหลัง ซึ่งทางแคบๆช่วงที่สองนี้ถือเป็นเส้นทางเล็กพริกขี้หนูในเรื่องของกินประจำตลาดน้ำดอนหวายเลย
สำหรับแผงลอยริมทางทั้งซ้ายขวาตามหน้าบ้านช่วงที่หนึ่งและช่วงที่สองมีทั้งเคาน์เตอร์อลูมิเนียมและโต๊ะสินค้าหนาแน่นทุกตารางนิ้วตั้งแต่ปากตรอกศาลเจ้าเข้ามา ขณะที่ในบ้านทั้งสองฟาก บางหลังก็ใช้พื้นที่ทำของกินเพื่อวางขายที่แผงหน้าบ้าน แต่บางหลังก็เปิดบ้านเป็นที่นั่งกินเลย โดยถ้าเป็นบ้านริมน้ำของโซนสอง บางหลังจะสร้างแพลอยน้ำยื่นออกไปทางหลังบ้านเป็นที่นั่งกินด้วย
ทีนี้มาพูดถึงของกินบ้าง ถึงแม้บางเจ้าสามารถนั่งกินในร้านได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นข้าวของจากแผงลอยริมทางที่ซื้อกลับไปมากกว่า และของกินตั้งแต่ปากตรอกข้างศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ยเข้ามาของช่วงที่หนึ่งจนเจอสามแยก รวมทั้งเลี้ยวซ้ายไปเล็กน้อยและเลี้ยวขวายาวไปจนสุดทางของช่วงที่สองก่อนเข้าเขตวัดก็มีดังนี้ ของหมักดอง ของแห้ง เบเกอรี่ ขนมไทย ไอศกรีม อาหารอีสาน อาหารทะเลแห้ง เบเกอรี่ อาหารตามสั่ง ขนมจีนน้ำยา ก๋วยเตี๋ยว ผลไม้แช่อิ่ม ของปิ้งย่าง ชากาแฟ ขนมปัง อาหารทั่วไป ของกินเล่น พืชไร่ เครื่องดื่ม น้ำแข็งไส ผลไม้เชื่อมและอบแห้ง ของชำ ผักสด เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ผลไม้ ไข่ ขนมของเด็ก กับข้าว น้ำพริก ขนมของชาวจีน ของทอด ของหวาน ของทอด และอาหารแช่เย็น สำหรับของใช้ก็มีของใช้ในบ้าน ต้นไม้ประดับ ของสะสม ของเล่นเด็ก เครื่องครัว ของชำร่วย และเสื้อผ้าสตรี
เมื่อเดินพ้นทางเดินแคบๆในตรอกออกมา เราก็เข้าสู่ทางเดินของโซนที่ 3 บริเวณนี้เป็นทางเดินตรงช่องเดียวและมีทางเข้าไปแพริมน้ำทางซ้ายมืออีกสามช่อง ขณะที่จุดปรุงอาหารของแพจะอยู่ด้านหน้า ซึ่งทางเข้าแพริมน้ำเหล่านี้มีแผงลอยของพ่อค้าแม่ค้าเรียงรายอยู่ด้านหน้าตรงทางเดิน(ที่ทุกคนเพิ่งออกมาจากโซน 2)ตลอดทางเลย ขณะที่อีกฝั่งของทางเดิน(หรือตรงข้ามกับแพริมน้ำ)ก็มีแผงลอยไปตลอดเช่นกัน สำหรับช่วงแรกของโซนนี้มีหนึ่งช่องทางเดินก่อน จากนั้นทางเดินจะกว้างขึ้นเป็นสองช่องในช่วงที่สอง โดยมีซุ้มแผงสินค้าทรงสี่เหลี่ยมคั่นตรงกลางระหว่างสองช่องทางนี้ และแต่ละแผงจะหันหน้าร้านออกไปด้านของตนเอง ทั้งนี้ยังมีตรอกสำหรับเดินเข้าออกลานจอดรถของวัดดอนหวายอยู่ปลายทางที่ด้านขวาซึ่งมีแผงสินค้าอีกด้วย สำหรับข้าวของโซน 3 ก็มีของกินเล่น ผักสด ของปิ้งย่าง อาหารทั่วไป ของหมักดอง เครื่องดื่ม ของทอด ของแห้ง ผลไม้ น้ำผลไม้ปั่นและคั้น ผักพื้นบ้าน ขนมไทย อาหารของชาวจีน ขนมปัง ไข่ อาหารตามสั่ง ของเล่นเด็ก และเบเกอรี่
จากนั้นช่องทางเดินจะบีบให้เหลือหนึ่งช่องทางอยู่ฝั่งซ้ายริมแม่น้ำ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเข้าสู่โซน 4 แล้ว โดยโซนนี้มีอาคารโครงเหล็กทั้งหมด 3 อาคาร สำหรับทางเดินที่บีบเหลือหนึ่งช่องนั้นเสมือนเป็นทางเชื่อมก่อนเข้าสู่อาคารโครงเหล็ก โดยซ้ายมือของทางเชื่อมนี้เป็นแผงลอย ส่วนขวามือคือห้องแถวแบ่งเป็นล็อกๆ สำหรับสินค้าของทางเชื่อมก็มีของกินเล่น ผลิตภัณฑ์จากไม้ ของแห้ง ของชำ น้ำผลไม้คั้น ของกินเล่น ชากาแฟ ขนมไทย หมวก ของเล่นเด็ก และผักสด
เมื่อพ้นทางเชื่อมไปก็เข้าสู่อาคาร 1 เต็มตัว โดยอาคารหลังแรกมีขนาดใหญ่ที่สุดและแบ่งเป็นสองช่องทางเดิน ด้วยกัน ส่วนข้าวของเริ่มตั้งแต่ผลไม้ ของใช้ในบ้าน ไอศกรีม ของหมักดอง หมากพลู ผักสด ขนมไทย ของหวาน วัสดุสำหรับปลูกต้นไม้ พืชไร่ สมุนไพร ของกินเล่น เครื่องดื่มแช่เย็น เครื่องดื่ม ของเล่นเด็ก ของแห้ง ของตกแต่ง ไอศกรีม เครื่องแต่งกาย ผลไม้แช่อิ่มและอบแห้ง น้ำผึ้ง น้ำผลไม้ เครื่องประดับสตรี เสื้อผ้าชายหญิง กระเป๋า ไปจนถึงพระเครื่อง
ต่อด้วยอาคาร 2 (ซึ่งอยู่ทางขวาของอาคาร 1) อาคารนี้มีอยู่ 3 ช่องทางเดิน ซึ่งถ้าเราเดินพ้นอาคาร 2 นี้ออกไป ก็เข้าสูเขตวัดได้อีก สำหรับสินค้าที่เยอะที่สุดในอาคารคือ ผลไม้ ที่เหลือมีของหมักดอง เครื่องดื่ม ของกินเล่น น้ำผึ้ง และแบบเรียน แต่จุดเด่นของอาคาร 2 ก็คือ แผงขวาสุดที่เป็นซุ้มต้นไม้ทั้งแถบนั่นเอง
ถ้านึกถึงของกินแบบครอบจักรวาล ตลาดน้ำดอนหวายเป็นชื่อในลำดับต้นๆที่เด้งขึ้นมาในหัวทันที ที่นี่เปิดขายทุกวัน แต่ถ้าเป็นวันหยุด พ่อค้าแม่ค้าจะมาเต็มทุกล็อก ของกินเลยเต็มทุกพื้นที่ ที่สำคัญนักท่องเที่ยวก็พร้อมใจกันจู่โจมมานับพันนับหมื่นคนด้วย และจากประวัติยาวนานของตลาดริมน้ำแห่งนี้ ทีมงานขออาสาไขความกระจ่างเอง
- เริ่มต้นโซนแรกด้วยสินค้าปากทาง ก่อนจะเข้าตรอกข้างศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย
ซ้ายบน – เคาน์เตอร์นี้มีของกินดั้งเดิมอยู่หลายอย่าง เริ่มจากกระเพาะหมูตุ๋นพริกไทย ต้มเยื่อไผ่ดอกไม้จีน ซี่โครงหมูตุ๋นยาจีน และต้มถั่วคากิกับซี่โครง
ขวาบน – ด้านหลังกำลังทอดข้าวแต๋นอยู่ ส่วนน้องด้านหน้ารับหน้าที่ขาย
ซ้ายกลางบน – เสื้อยืดที่ระลึก“ตลาดน้ำดอนหวาย”ก็อยู่โซนนี้
- ต่อไปก็เข้าสู่ไฮไลต์กับทางเดินสายแคบกัน
ขวากลางบน – แค่จำนวนคนที่อออยู่ปากทางเข้าตรอกข้างศาลเจ้าทางขวา ความไม่ธรรมดากำลังบังเกิดในไม่ช้า
ซ้ายกลางล่าง – แผงนี้ขายเป็ดย่าง แต่หมี่หยกก็มีด้วย
ขวากลางล่าง – ยอมรับว่าปลาช่อนนาทอดเจ้านี้ใหญ่ยักษ์จริงๆ
ซ้ายล่าง – บนแผงของแม่ค้าเจ้านี้ขอไล่เรียงดังนี้ เริ่มจากปลาส้มชิ้นใหญ่ก่อน ถาดกลางด้านหน้าคือ ปลาตะเพียน ถาดกลางใกล้ภาพคือ ปลานวลจันทร์ ส่วนถาดหลังที่มีที่คีบวางทับคือ ปลาจีน สำหรับเมนูอื่นๆมีปลาส้มไร้ก้าง ปลาส้มปลาร้า ปลาส้มไร้ก้างแบบแผ่น แหนมหมูกระดูกอ่อน และปูดอง
ขวาล่าง – ข้าวเหนียวร้อนๆควรกินคู่กับสิ่งที่พ่อค้านำเสนอ อันได้แก่ หมูฝอยหวาน หมูแดดเดียว หมูทอด และไก่ทอด ใครอยากซื้อแบบขีดก็ได้หรือแบบกล่องด้านหน้าก็เชิญ
ทางช่วงแรกของโซนสองยังไม่จบง่ายๆ
ซ้ายบน – เมนูหลักของบ้านหลังนี้คือหมูยอสมุนไพรและก๋วยเตี๋ยวลุยสวนพร้อมน้ำจิ้มมะนาวสด
ขวาบน – หมึกย่างหลายขนาดร้อนได้ที่พร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด
ซ้ายกลางบน – โต๊ะหน้าบ้านนำของหวานสูตรโบราณมาจำหน่ายดังนี้ กะละแม(กะทิสด ใบเตย และทุเรียน) พุทรากวน ข้าวฟ่างกวน และข้าวเหนียวแดง ขณะที่แถวหน้าสุดมีอาลัว ปั้นสิบ และวุ้นกรอบ
ขวากลางบน – ป้านั่งปิ้งกล้วยตำแหน่งเดิมไม่มีหยุด ส่วนเมนูมีกล้วยปิ้ง กล้วยทับ(ราดน้ำกะทิ) และกล้วยหักมุกปิ้ง
ซ้ายกลางล่าง – สองมือสองไม้ของแม่ค้าแข็งขันเสียจริงกับขนมฝักบัวและขนมเบื้องญวน
ขวากลางล่าง - ของเล่นล็อกนี้จัดหนักมาก เท่าที่เห็นเริ่มจากวอลเลย์บอลยัดห่วง หุ่นยนต์ ชุดอาบน้ำทารก เกมดาบโจรสลัดถังบาร์เรล ชุดการเรียนรู้ รถไฟปู๊นปู๊น แต่งตัวตุ๊กตา รถของเล่น เฮลโหลคิตตี้ โดราเอม่อนเป่าฟอง ชุดแต่งหน้าเค้ก เครื่องทำไอศกรีม โบว์ลิ่ง ดาบของเล่น เครื่องปั่นน้ำผลไม้ ชุดเย็บผ้า เครื่องครัว แคชเชียร์คิดเงินของเล่น เครื่องมือแพทย์ เป็ดสีเหลือง ชิงช้าสวรรค์ ชุดสร้างปราสาท ชุดทำอาหารจานด่วน ตู้กดน้ำของเล่น ชุดตกปลา ไปจนถึงขนมกินของเด็กๆ
- จากเส้นทางช่วงแรก เราเข้าสู่เส้นทางช่วงสองของโซนสองต่อ
ซ้ายล่าง – ในตรอกแคบๆช่วงต่อมามีแต่มหกรรมของกิน การจราจรจึงจอดสลับหยุดนิ่ง
ขวาล่าง – พ่อค้าแผงนี้จำหน่ายกับข้าวดังนี้ แกงเทโพ แกงสายบัว ลูกชิ้นปลากรายผัดเผ็ด ปลาช่อนผัดพริก ปลาดุกทอดกรอบ ตีนไก่น้ำแดง แกงเขียวหวาน ปูหลน แกงหอยขม แกงพะโล้ แกงขี้เหล็ก น้ำพริกเผาไข่เค็ม และลูกชิ้นปลากรายผัดสะตอ
ตอนนี้ท้องใครร้องอยู่ คงเสียงซาลงบ้าง แต่ถ้ายัง ลุยต่อ
ซ้ายบน – ป้าโต๊ะนี้โชว์เคล็ดลับอยู่สองอย่างคือ แกงคั่วหน่อไม้ดองกับแกงบอน
ซ้ายกลางบน – ใครที่นึกอยากกินขนมจีน น้องผู้หญิงมีน้ำยากะทิ น้ำพริก น้ำยาป่า แกงเขียวหวาน และน้ำเงี้ยวให้เลือก
ขวาบน – เป็ดพะโล้ถือเป็นสินค้าขึ้นชื่อของโซนนี้ สำหรับช่วงที่สองมีอยู่สองเจ้าดัง (แต่ถ้าทั้งตลาดน้ำ มีประมาณ 5 เจ้า)
ซ้ายกลางล่าง – แผงนี้ประกาศตัวว่า เด่นเรื่องปลาสลิดแดดเดียวและปลาช่อนแดดเดียว
ขวากลาง – มุมนี้มีเมนูตามที่เขียนไว้เลย ได้แก่ หอยจ๊อปูสด แฮ่กึ้นกุ้งสด หอยจ๊อปูทอด ทอดมันปลากราย และลูกชิ้นกุ้งทอด
ซ้ายล่าง – หน้าบ้านกำลังปรุงก๊วยจั๊บ ข้าวหมูแดง-หมูกรอบ และกระเพาะปลา ส่วนหลังบ้านติดริมน้ำเป็นที่นั่งกิน
ขวาล่าง – สำหรับอาหารตามสั่งร้านนี้ เมื่อมาถึงสามแยกของช่วงที่สอง ให้เลี้ยวซ้ายไป รายการอาหารก็มีผัดกะเพรา ผัดผักรวม ผัดพริกหยวก ผัดพริกสด ผัดพริกเผา ผัดพริกแกง ผัดผักกระเฉด ผัดขิง ผัดกระเทียมพริกไทย ผัดคะน้า ผัดเปรี้ยวหวาน ข้าวผัด ข้าวผัดต้มยำ ไข่ยัดไส้ แกงจืด ต้มยำ ราดหน้า ผัดไทย ผัดซีอิ๊ว ผัดขี้เมา และผัดหมี่กระเฉด ทั้งหมดนี้จะมีเนื้อสัตว์ให้เลือกคือ หมู ไก่ ตับ หมูกรอบ หมึก และกุ้ง
ช้อปชิมกันต่อ
ซ้ายบน – หน้าบ้านนี้เรียงอาหารทะเลแห้งจนแน่นขนัดเลย ทั้งหมดมีหมึกกะตอยไข่ ปลาข้าวสารแห้ง หมึกหยองเกาหลี หมึกหยองญี่ปุ่น หมึกหยองทอง ปลากรอบ หนวดหมึก หมึกย่าง หมึกเล็ก กุ้งแห้ง ปลาหวาน รวมทั้งกุนเชียงปลา กุนเชียงไก่ และกุนเชียงหมู
ขวาบน – สิ่งของที่โดดเด่นของบ้านหลังนี้คือ บ๊ะจ่างที่มีทั้งห่อใบไผ่และใส่กล่อง โดยเครื่องที่ใส่ด้านในมี 10 อย่างคือ กุ้งแห้ง ถั่วลิสง กุนเชียง เห็ดหอม พุทราจีน เผือก ไข่แดง เม็ดบัว หมูเค็ม และแปะก๊วย ส่วนอีกหนึ่งเมนูคือ ข้าวห่อใบบัวแปดเซียน
ซ้ายกลางบน – ของกินสามรสของร้านนี้มีหอยราก หอยแมลงภู่ หอยทับทิม และหอยเชลล์
ขวากลาง – พ่อค้าเจ้านี้จำหน่ายกระปุกน้ำพริกสารพัดรสชาติ เริ่มจากน้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกนรก น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกปลาทู น้ำพริกไข่เค็ม น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกแมงดา น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาร้า ปลาร้าสับ จนไปถึงหน่อไม้ต้มใบย่านางในหม้อใกล้ภาพ
ซ้ายกลางล่าง – ใครอยากได้ลูกชิ้นปลา(ทะเล) คนขายทำมาจากปลาน้ำดอกไม้ ปลาอินทรี และปลาไล้กอ
ซ้ายล่าง – แม่ค้าร้านนี้มีผลไม้อบแห้งต่างๆดังนี้ กล้วยน้ำว้าอบแห้ง กล้วยเล็บมือนางอบแห้ง อินทผาลัมอบแห้ง มะเขือเทศอบแห้ง และสมออบแห้ง
ขวาล่าง – สำหรับแผงนี้มีของกินเล่นเพลินๆอีกมาก เริ่มตั้งแต่ขนมผิงสละ ขนมผิงกะทิ ไข่กรอบ มะม่วงกวนเปรี้ยวหวาน มะยมเชื่อม มะม่วงไม้ ปลาหวานเสียบไม้ บ๊วยสามรส องุ่นอบแห้งคลุกบ๊วย ไปจนถึงมะขามจี๊ดจ๊าด
กองทัพของกินมากันไม่ยั้ง
ซ้ายบน – แม่ค้าร้านนี้มีมะม่วงมายั่วน้ำลาย สำหรับเครื่องจิ้มมีน้ำปลาหวานและกะปิหวาน
ขวาบน – บ้านหลังนี้เชี่ยวชาญเรื่องขนมตาลโดยเฉพาะ
ซ้ายกลางบน - ใครรักของเชื่อม เจอกันที่ร้านนี้ ทั้งหมดมีสาเกเชื่อม ฟักเชื่อม มันเชื่อม จาวตาลเชื่อม และมะตูมเชื่อมแห้ง
ขวากลางบน – ถึงตอนนี้ บ้านนี้ทำขนมบ้าบิ้นมารุ่นที่สามแล้ว
ซ้ายกลางล่าง - ขนมเปี๊ยะสารพัดไส้ตามถาดมีฟักหวาน ถั่วไข่อบเทียน ถั่วเหลืองหวาน ถั่วเหลืองเค็ม และเค็มหมูสับ อีกทั้งยังมีขนมลูกเต๋า ขนมเปี๊ยะตัด และขนมงาอ่อนด้วย
ขวากลางล่าง – และใครอยากกินขนมปังร้อนๆจากเตา บ้านนี้มีมาม่อนเค้กกับขนมปังก้อนจิ้มสังขยาแพ็กเป็นชุดเรียบร้อย
- จากความอิ่มในโซนสอง ทีมงานไม่รอรีเข้าสู่โซนสามเลย
ซ้ายล่าง – ทางเดินในโซนสามยังหนาแน่นเช่นเคย
ขวาล่าง – สามเมนูที่อยู่ตรงหน้าคือ คอเป็ดทอด ขาเป็ดทอด และกบทอดน้ำปลา
สำรวจโซนสามกัน
ซ้ายบน – พ่อครัวเพิ่งตักขาหมูทอดกรอบร้อนๆขึ้นจากน้ำมันที่กำลังเดือดปุดๆ
ขวาบน – มุมนี้เป็นเรื่องของปลาตะเพียนต้มเค็มล้วนๆ
ซ้ายกลางบน - ร้านนี้มีของกินหลายอย่างให้ช้อปดังนี้ หมี่กรอบ หอยดอง ปลาทอด หมูแดดเดียวทอด หมูหยอง หมูฝอย หอยแครงดอง ก้างปลาข้างเหลือง ปลาซิวกรอบ ปลาแก้วสามรส ไปจนถึงหมึกแห้ง
ขวากลางบน – ปลาทูแม่กลองตัวโตๆวางกันเต็มแผง
ซ้ายกลางล่าง – ลุงเจ้านี้มีไข่เค็มร้อนๆมาฝาก
ขวากลางล่าง – แม่ค้ากำลังทอดหมูแผ่นอยู่พอดี
ซ้ายล่าง – ขณะที่คนขายแผงนี้มีเม็ดมะม่วงหิมพานต์ร้อนๆจากกระทะและแคบหมูอยู่อีกด้าน
ขวาล่าง – สินค้าหลักของป้าและน้าโต๊ะนี้คือ ทองม้วนสดและทองม้วนกรอบ
ขอเดินโซนสามอีกประเดี๋ยว
ซ้ายบน – กลิ่นของขนมปังอบกรอบนมสดลอยฟุ้งอยู่หน้าร้านจริงๆ
ขวาบน – ตลาดน้ำเก่าแก่แบบนี้ขาดขนมไทยไม่ได้เด็ดขาด แผงนี้จึงปรุงสดๆให้เห็นกับตา เริ่มจากเม็ดขนุน ทองหยอด ไปจนถึงฝอยทอง ทั้งนี้ยังมีขนมชั้นอีกด้วย
ซ้ายกลางบน – เครื่องดื่มต่างๆของแม่ค้าที่กำลังชงอยู่ก็เช่น ชาเย็น กาแฟเย็น โอเลี้ยง โกโก้ น้ำบ๊วย น้ำหวานโซดา โอวัลติน ชามะนาว ฯลฯ
ขวากลาง – ในโซนสาม ถ้าเราเลี้ยวขวาเข้าตรอกเพื่อไปลานจอดรถของวัด ทุกคนจะเห็นคนขายกำลังคั่วถั่วไปมาอยู่ หลังจากเสร็จเป็นรูปเป็นร่างแล้ว สิ่งนี้ก็คือ ถั่วกรอบแก้ว
ซ้ายกลางล่าง – สำหรับโซนสามยังมีทางเดินเข้าแพริมน้ำอย่างที่เคยเกริ่นไว้อยู่สามช่อง ซึ่งอาหารจะทำอยู่บนฝั่งทั้งซ้ายและขวาของทางเดินเข้าสู่แพตามภาพ เมนูต่างๆก็เช่น ขาหมูทอดไร้มัน คากิทอดไร้มันต้มยำ แกงส้มไหลบัวกุ้งสด หมึกผัดกระเทียมโทน ยำไหลบัวกุ้งสด เอ็นหอยจอบผัดพริกไทยดำ ห่อหมกขนมครกปลากราย หมูสะเต๊ะกะทิสด ฯลฯ
- โซนสามสัมฤทธิ์ผลด้วยดี ตอนนี้ก็เข้าสู่โซนสี่ต่อเลย โดยเริ่มจากทางเชื่อมก่อน
ซ้ายล่าง – ลุงมีสินค้ามากมายมาจำหน่ายจนตาแทบลาย ทั้งหมดในร้านมีน้ำตาลอ้อย น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด ผักกาดดอง ผักเสี้ยน ผักกุ่มดอง กระเทียมดอง ไช้โป้ว ขิงดอง มะขามเปียก มะนาวดอง กระเทียมโทนดอง พริกขี้หนูสด สะตอ ต้นหอมดอง และน้ำผึ้ง
ขวาล่าง – ขณะที่ป้าร้านนี้มีข้าวหมากสูตรโบราณและข้าวเหนียวตัด
ขอต่ออีกหนึ่งแผงบนทางเดินเชื่อม
ซ้ายบน – เจ้านี้มีอุปกรณ์ยืดเส้นยืดสายดังนี้ กะลานวดเท้า ไม้นวดฝ่ามือ และไม้คลายเส้น นอกจากนี้ยังมีพายกวนข้าว ทัพพี ไม้เกาหลัง ง่ามยิงนก พัดสาน ขลุ่ย ครกประดับ ของเล่น และที่ยืดนิ้วล็อก
- จากนั้น เราเข้าสู่อาคารหลังที่หนึ่งอย่างเต็มตัว
ขวาบน – ในเมื่อผู้คนครึกครื้นขนาดนี้ สินค้าก็พลอยคึกคักตาม
ซ้ายกลาง – เริ่มกันที่ผักสดก่อน บนแผงทั้งหมดของเจ้านี้มีขึ้นฉ่าย ต้นหอม ขมิ้นขาว ยอดมะระ พริกขี้หนู ผักแขนง กระชาย มะรุม บวบเหลี่ยม ดอกแค ถั่วพู แคร์รอต ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ ข่า ข้าวโพดอ่อน มะเขือเปราะ คะน้า ผักหวาน มะระ แตงกวา ถั่วลันเตา ดอกขจร ดอกโสน ถั่วงอก มะเขือพวง หอมใหญ่ ขิง บร็อกโคลี และกะหล่ำดอก
ขวากลางบน – ขอต่อกับหมวดผักอีกหนึ่งเจ้า แม่ค้าร้านนี้ยังมีมะเขือยาว ใบเหรียง ผักกูด ผักกระเฉด ผักบุ้งไทย สะตอดอง ดอกกระเจี๊ยบ กะเพรา โหระพา มะเขือเปราะ มะเขือเปราะม่วง ชะอม มะระ ดอกชมจันทร์ และขมิ้นขาว
ขวากลางล่าง – สำหรับใครต้องการผลไม้คัดเกรดหรือนำเข้าจากเมืองนอก (แต่สินค้าจากเมืองไทยก็มี) แผงนี้น่าจะเป็นตัวช่วยได้ เริ่มจากองุ่นเขียวไร้เม็ด องุ่นลิ้นจี่ อินทผาลัมสด ลูกพลับเกาหลี สตรอว์เบอร์รี องุ่นแม่มด ส้มแมนดาริน ส้มโชกุน แอปเปิลเขียว แอปเปิลแดง สาลี่ก้านยาว ทับทิมสเปน เชอร์รี่ยูเอสเอ และอโวคาโด
ซ้ายล่าง – แผงต่อมามีกล้วยหอมหวีโตและชมพู่ผิวสวย
ขวาล่าง – พี่แผงนี้มีสับปะรดภูแล สับปะรดสวนผึ้ง มะเขือราชินี และสับปะรดกวนมาเสริมอีกแรง
ยังอยู่ในโซนที่สี่
ซ้ายบน – แผงนี้จัดเรียงผลไม้กินเล่นและอบแห้งสารพัดชนิด ทั้งหมดมีบ๊วยสามรส มะขามป้อมแช่อิ่ม แกนสับปะรด มะขามสด พุทราจีน กล้วยเล็บมือนางอบแห้ง กล้วยน้ำว้าอบแห้ง มะเขือเทศราชินี สมออบชะเอม อินทผาลัมอบแห้ง สมอแช่อิ่ม มะขามคลุกน้ำตาล ลูกเกด มะม่วงอบแห้ง ลูกพลับ สับปะรดแว่นอบแห้ง กีวี่อบแห้ง ลูกชิด มะม่วงกวน และมะขามแช่อิ่ม ขณะที่ด้านล่างยังมีน้ำตาลโตนดและน้ำตาลมะพร้าวอีก
ขวาบน – แม่ค้าร้านนี้มีผลไม้แช่อิ่มมากมาย เริ่มตั้งแต่มะดัน องุ่น มะขามป้อม มะม่วง กระท้อน ลูกท้อ พุทราจีน มะขาม รวมทั้งมะขามคลุกน้ำตาล
ซ้ายกลางบน – ในโซนสี่มีแผงจำหน่ายไช้โป้วอยู่หลายเจ้า สำหรับเจ้านี้ยังมีขิงดองและผักกาดดองด้วย
ขวากลางบน – ส่วนใครอยากได้สมุนไพรไว้ชงติดบ้าน ชั้นวางเหล่านี้มีของกินต่างๆอันได้แก่ ถั่งเช่าสีทอง เจียวกู่หลาน ดอกเก๊กฮวยแห้ง เห็ดหลินจือแห้ง ดอกอัญชันแห้ง เปลือกดาวอินคา หญ้าหนวดแมว เก๋ากี้ ปอกะบิด ชากุหลาบ ลำไยสีทอง ดอกคำฝอยแห้ง ชาดาวอินคา หญ้าหวาน มะตูมแห้ง สมุนไพรสูตรพุงยุบ พุทราจีนแห้ง ดอกกระเจี๊ยบแห้ง หล่อฮั้งก้วย ใบเตยหอมแห้ง และใบหม่อนแห้ง
ซ้ายกลางล่าง – จากร้านสมุนไพร เรามาตาฝ้าฟางกับสินค้าหมวดปลูกต้นไม้กันบ้าง เริ่มตั้งแต่ปุ๋ยใส่ดอกบัว ขี้ค้างคาวไว้ปลูกต้นไม้ ยาฉุน ปุ๋ยอินทรีเร่งดอก ปุ๋ยกล้วยไม้ ตะกร้อใส่ปุ๋ยกล้วยไม้ อีเอ็มสูตรผลไม้ ปุ๋ยเร่งดอก ปุ๋ยป้องกันเชื้อรา และปุ๋ยมูลไส้เดือน นอกจากนี้ยังมีขี้ผึ้งดำ ดินสอพอง สีเสียด ขมิ้นชัน สีผึ้ง แป้งทานาคา กากน้ำตาล ใบพลู น้ำผึ้งป่า น้ำผึ้งเลี้ยง ยาแก้ไอ สมุนไพรแก้ปวดเมื่อย แป้งข้าวหมาก และรำมะนาด
ขวากลางล่าง – มุมนี้มอบให้คนเคี้ยวหมากเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่พวงหมากสด ตามมาด้วยหมากแห้งต่างๆคือ หมากซีก หมากป่น หมากซอย และหมากอ่อน แล้วเป็นปูนแดง ปูนขาว สีผึ้งหอม สีเสียด ใบพลู ไปจนถึงยาฉุน
ซ้ายล่าง – ลุงที่นั่งอยู่มุมนี้มีพระเครื่องให้เช่ามากมาย เข้ามาชมได้เลย
- จากอาคารหนึ่ง เราไปทางขวาเข้าสู่อาคารสองกันบ้าง
ขวาล่าง – บรรยากาศในอาคารสอง กองผลไม้จากสวนนับกันไม่หวาดไม่ไหว
เริ่มสำรวจดงผลไม้ในอาคารสองกัน
ซ้ายบน – คนขายร้านนี้มีผลไม้อีกมากมาให้หยิบจับ ทั้งหมดบนแผงมีส้มเช้ง ลูกท้อ(หรือเซียนท้อ) บัวหิมะ มะพร้าวกะทิ แก้วมังกร มะม่วงเขียวเสวย ส้มโชกุน น้อยหน่าเพชรปากช่อง มะพร้าวกะทิ ลูกพลับ สาลี่ก้านยาว กูสเบอร์รี่ มะม่วงแรด แตงโม ละมุด มะขามหวาน แอปเปิลเขียว แอปเปิลแดง อินทผาลัมแห้ง และทับทิม รวมทั้งขิงแก่
ขวาบน – กองส้มโอเป็นผลหรือแกะใส่แพ็กก็มี โดยมีสองพันธุ์คือ ทับทิมสยามและขาวน้ำผึ้ง
ขวากลางบน – ส่วนมุมนี้มีแต่ฝรั่งกิมจูและฝรั่งไทยไส้แดง
ซ้ายกลาง – บริเวณทางขวาตลอดแนวจำหน่ายพันธุ์ไม้มากมาย อย่างเช่นมุมนี้ที่มีมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์เตี้ย ลูกจัน พุทธรักษา ส้มโอทองดี ฝรั่งทับทิมสยาม มะนาวแป้น ผักหวาน ส้มเช้ง มะม่วงแดงจักรพรรดิ และมะม่วงอาร์ทูอีทู
- เรามุ่งหน้าสู่อาคารที่สามของโซนสี่ต่อ
ขวากลางล่าง – นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาไม่ขาดสายจริงๆ
ซ้ายล่าง - ผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่เห็นละลานตาในตลาดน้ำดอนหวายก็คือ ขนุน พ่อค้าแม่ค้าหลายเจ้านำสายพันธุ์ต่างๆมายืนปอกขายกันทั้งวัน เริ่มจากเพชรราชา แดงสุริยา เหลืองบางเตย ทองประเสริฐ ไปจนถึงขนุนจำปา
ขวาล่าง – เครื่องครัวสารพัดของแผงนี้มีถ้วย ชาม จาน แจกัน พาน ชุดน้ำชา และจานออเดิร์ฟ
เดินชมสินค้าในอาคารสามกันต่อ
ซ้ายบน – ทางเดินด้านข้างในอาคารมีมุมเสื้อผ้าของสาวๆด้วย ทั้งเสื้อ กระโปรง และเดรส
ขวาบน – ทิ้งทวนโซนสี่ด้วยความสวยความงามท้ากาลเวลากับสินค้าต่างๆ เริ่มจากครีมอณูน้ำ ลิปจิ๋ว เซรั่มลดรอยดำจากสิว แป้งคุชชั่น เซรั่มดูแลใต้ตาหมอง มาส์กใต้ตา ครีมเนื้อแมตต์ ครีมมะเขือเทศสีดำ มาส์กบำรุงสำหรับกลางคืน เซรั่มผิวอมชมพู กากกาแฟขัดผิว ดินสอเขียนคิ้ว แผ่นลอกสิวเสี้ยน อายแชโดว์พาเลต เซรั่มกระชับรูขุมขน พาเลตตา สีทาเล็บ อายไลเนอร์ เซรั่มซับมัน เซรั่มผิวใส บีบีครีมผสมไพรเมอร์ เซรั่มลำไยลดฝ้า และสบู่บำรุงผิวผสมสับปะรด
- จากนั้นขอให้ทุกคนเดินออกจากอาคารสาม แล้วเลี้ยวซ้าย เดินตามเส้นทางเพื่อไปลานจอดรถของวัดกัน ตามรายทางยังมีสินค้าอีกเยอะ
กลาง – ภาพบางส่วนของลานจอดรถวัดดอนหวายและเส้นทางให้รถวิ่งไปมา (จากภาพ แผงลอยจะกระจายตัวอยู่บริเวณริมทางรอบลานจอดรถ อย่างเช่น แผงบริเวณ www จะเป็นเพิงเต็นท์ผ้าใบยาวลึกไปทางซ้ายของภาพ ภายในเต็นท์แบ่งเป็นล็อกๆ เกือบทั้งหมดเป็นของใช้ ขณะที่ฝั่งตรงข้ามคือร่มตลาดนัดที่ยาวต่อเนื่องกันไป และเพิงเต็นท์ผ้าใบแบบยาวยังมีอีกฟากไปทางตัวอักษร com ด้วย ทีนี้มองไปที่บ่ายสองของตัวอักษร com อีกครั้ง เราจะเห็นศาลาหลังคาสีอิฐ ซึ่งทางเดินที่ลึกเข้าไปตรงนั้นก็คือ เส้นทางที่เราเดินออกมาจากอาคารสามของโซนสี่นั่นเอง)
- นับจากนี้เป็นแผงลอยในช่องทางที่ออกจากอาคารไปสู่ลานจอดรถ
ซ้ายกลาง – อย่างที่บอกไว้ว่า มีบางแผงของอาคารสามที่หันหน้าร้านออกไปทางเดิน(ที่ไปลานจอดรถ) ทีมงานขอยกตัวอย่างร้านเครื่องดื่มแช่เย็นร้านนี้แล้วกัน สินค้าของพี่และป้าร้านนี้มีโค้ก เอส แฟนต้า(น้ำแดง น้ำเขียว น้ำส้ม) สไปรท์ เป๊ปซี่ น้ำดื่มคริสตัล น้ำเฉาก๊วย น้ำใบบัวบก น้ำอัญชัน น้ำเก๊กฮวย และน้ำกระเจี๊ยบ
ขวากลาง – หรือถ้าใครอยากจิบน้ำตาลสดจากมะพร้าว พ่อค้าก็พร้อมตักใส่น้ำแข็งกระบอกไม้ไผ่ให้
ซ้ายล่าง – รถพ่วงข้างของแม่ค้าและลูกน้อยที่มาด้วยกันมีข้าวหลามและขนมจาก (โดยข้าวหลามมีข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวขาว และข้าวเหนียวสังขยา)
- ยินดีต้อนรับสู่แผงลอยรอบลานจอดรถ
ขวาล่าง – ชั้นวางนี้มีน้ำตาลโตนด น้ำตาลอ้อย น้ำตาลมะพร้าว และปลากดย่าง
เดินชมแผงลอยตามลานจอดรถและเก็บตกอะไรอีกเล็กๆน้อยๆ
ซ้ายบน – คนขายในเต็นท์ยาวมีเสื้อผ้าหญิงสูงวัย ผ้าปาเต๊ะ ผ้าถุง เสื้อคอกระเช้า และผ้าขาวม้ามาเป็นตัวเลือกให้กับกลุ่มเป้าหมาย
ขวาบน – ส่วนป้าแผงนี้มีกระเป๋าผักตบชวาและกระเป๋ากระจูดมาจัดจำหน่าย
ซ้ายกลาง – เมนูอาหารตามสั่งตามเพิงเต็นท์มีอยู่สี่ร้าน ทีมงานขอชมตัวอย่างสักหนึ่งร้านแล้วกัน ซึ่งสำรับแต่ละเจ้าก็ไม่ต่างกันนัก อย่างเช่นร้านนี้ ขอเริ่มต้นที่หมวดอาหารจานเดียวก่อน ซึ่งมีข้าวกะเพรา(หมู ไก่ ทะเล และหมูกรอบ) ข้าวพริกแกง(หมู ไก่ ทะเล และหมูกรอบ) ข้าวพริกหยวกหมู ข้าวผัดพริกเผาหมู ข้าวผัดฉ่าปลาดุก ข้าวราดผักกระเฉดไฟแดง ข้าวราดคะน้าหมูกรอบ ข้าวผัดหมู ข้าวหมูกระเทียม ข้าวราดไก่ผัดขิง ผัดซีอิ๊วหมู ผัดขี้เมาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และสุกี้(ไก่ กุ้ง หมู และหมึก) ส่วนหมวดเป็นกับมีต้มยำรวม(หมู หมึก และกุ้ง)แบบน้ำข้นและน้ำใสให้เลือก ต้มยำปลาทูสด ต้มยำปลาดอลลี่ ต้มยำปลากระป๋อง แกงจืดเต้าหู้หมูสับผักกาดขาว ผัดผักรวม(หมู หมึก และกุ้ง) ผัดคะน้าหมูกรอบหรือปลาเค็ม ผัดกะเพราเต้าหู้ ผัดฉ่า(ปลาดุก กุ้ง และหมึก) ปลานิลทอดกระเทียม และปลาทูทอดราดพริก
ขวากลาง – เรายังมีหนุ่มเสื้อแดงให้บริการวาดภาพทั้งกระดาษไซส์ A4 และ A3 อยู่ริมทางด้วย ลูกค้าอยากนั่งเป็นแบบหรือมีรูปถ่ายให้ แล้วไปเดินเล่นก่อน ก็ได้หมด
- ณ เวลานี้ ตัวอย่างสินค้าตามแผงต่างๆก็ครบองค์ประชุม ทีมงานยังมีสินค้าเคลื่อนที่ที่อยากนำเสนอเพิ่มเติม
ซ้ายล่าง – พ่อค้าหมวกแก๊ปขี่มอเตอร์ไซค์พร้อมรัดตะกร้ากับข้าวอยู่เบาะท้าย ใครอยากกินอะไร ก็เลือกซื้อ(เหมือนแม่ค้าส้มโอขาวน้ำผึ้งคนนี้)ได้เลย อาหารคาวที่เห็นวันนี้มีต้มยำขาหมู แกงคั่วหน่อไม้ดอง หมูทอดกับน้ำจิ้มแจ่ว ต้มข่าไก่ ไก่ผัดขิง และปลานิลทอดราดพริก ส่วนคนไหนสนใจข้าวสวย คนขายเตรียมพร้อมแล้ว
ขวาล่าง – อำลาตลาดน้ำดอนหวายด้วยพ่อค้าหาบปลากริมไข่เต่า
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
314 | 5251 | 297643 |