(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")
ถนนคนเดินสังขละบุรีเป็นถนนสายวัฒนธรรมของคน 5 เชื้อชาติ ได้แก่ ไทย กะเหรี่ยง มอญ พม่า และมุสลิม โดยจัดขึ้นทุกเย็นวันเสาร์บนถนนเทศบาล 2 และถนนเทศบาล 5 ที่ตัดกันเป็นถนนคนเดินคล้ายเครื่องหมายบวก
ดังนั้นจากตรงกลางสี่แยกของจุดตัดถนนนี้ เราสามารถเดินไปได้สี่ทิศทางดังนี้
1. ถนนเทศบาล 2 ไปบรรจบกับถนนศรีสุวรรณคีรี
2. ถนนเทศบาล 2 ไปบรรจบกับถนนสังขละบุรี
3. ถนนเทศบาล 5 ไปบรรจบกับถนนเทศบาล 1
4. และถนนเทศบาล 5 ไปบรรจบกับถนนเทศบาล 3
โดยแต่ละถนนแบ่งเป็นสองช่องทางเดินและมีแผงลอยประกบซ้ายขวาในทุกช่อง ขณะที่แผงตรงกลางถนนเป็นแผงหันหลังชนกันและหันหน้าแผงเข้าช่องทางเดินฝั่งตนเอง
คราวนี้เรามาเริ่มจากถนนเทศบาล 5 ที่ติดกับถนนเทศบาล 1 กัน แต่ก่อนอื่น ถ้ายืนบนถนนเทศบาล 1 แล้วหันหน้าเข้าปากทางถนนเทศบาล 5 บริเวณริมถนนเทศบาล 1 ทางด้านขวาช่วงหน้าตลาดจะมีรถเข็น โต๊ะพับ และซุ้มอาหารเรียงแถวอยู่ สินค้าที่ขายบริเวณหน้าตลาดก็มีขนมของฝากพม่า ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ของกินเล่น อาหารพม่า และของทอด
ต่อไปก็เป็นถนนเทศบาล 5 ซึ่งบนถนนเส้นนี้ ช่องทางเดินซ้ายติดกับสวนสาธารณะและช่องทางเดินขวาติดกับด้านข้างอาคารตลาด แผงส่วนใหญ่เป็นรถเข็น แต่ก็มีโต๊ะวางสินค้ากับโต๊ะพับใต้ร่มตลาดนัด บางเจ้ามีที่นั่งให้กินอาหารด้วย สำหรับโซนนี้เป็นของกินเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เริ่มตั้งแต่ขนมไทย อาหารมอญ ขนมจีนน้ำยา ของทอด เบเกอรี่ ผลไม้สดปั่นและคั้น กับข้าว ของกินเล่น อาหารทั่วไป ของยำ อาหารพม่า ของปิ้งย่าง ผลไม้ ของแห้ง ขนมหวาน อาหารอีสาน เครื่องดื่ม ไอศกรีม ขนมของฝากพม่า ไปจนถึงเครื่องดื่มแช่เย็น ส่วนของใช้ก็มีกระเป๋า เครื่องประดับสตรี ของชำร่วย และรองเท้า ขณะที่ด้านหลังแผงลอยทางขวามือ เมื่อขึ้นบนฟุตบาทไป ยังมีร้านอาหารตามสั่ง อาหารทั่วไป และเครื่องดื่มที่เปิดเป็นล็อกๆริมอาคารตลาดพร้อมที่นั่งหน้าร้านแต่ละเจ้าด้วย
พอเราเดินมาถึงสี่แยก ทางซ้ายมือของช่องทางเดินที่หนึ่งบนถนนเทศบาล 5 จะมีเวทีดำเนินพิธีการอยู่ ขณะที่กลางสี่แยกปล่อยเป็นพื้นที่โล่งสำหรับการแสดงประเพณีวัฒนธรรมจากชุมชนเชื้อสายต่างๆ
คราวนี้จากสี่แยก เราจะเลี้ยวขวาเข้าถนนเทศบาล 2 (ที่ไปบรรจบกับถนนศรีสุวรรณคีรี)ก่อน สำหรับถนนเส้นนี้ ช่องทางเดินซ้ายติดกับบ้านเรือน ส่วนช่องทางเดินขวาติดกับด้านหลังอาคารตลาด แล้วต่อด้วยบ้านเรือนผู้คน โดยแผงลอยโซนนี้เป็นโต๊ะวางกับโต๊ะพับใต้ร่มตลาดนัดเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีราวแขวน ขาโต๊ะแผงลอย รถเข็น ผ้าบลูชีท ลังพลาสติก เสื่อ และแบกะดินด้วย บางเจ้าก็มีที่นั่งกินพร้อม สินค้าโซนนี้มีของกินค่อนข้างเยอะ แต่ของใช้ก็มีไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากเส้นทางนี้จะยาวกว่าเส้นทางก่อนหน้านั่นเอง ในส่วนของกินก็มีอาหารพม่า เครื่องดื่ม อาหารอีสาน ของปิ้งย่าง อาหารทั่วไป ของแห้ง ของทอด ของกินเล่น อาหารทะเลแห้ง อาหารเกาหลี ของป่า ผลไม้ ยา แมลงทอด อาหารปักษ์ใต้ เบเกอรี่ ของหมักดอง ของอบนึ่ง กับข้าว ขนมของฝากพม่า ขนมชาวกะเหรี่ยง อาหารญี่ปุ่น ผลไม้แปรรูป อาหารมุสลิม ผลไม้สดปั่นและคั้น และอาหารทะเล ขณะที่ของใช้ก็เริ่มจากเสื้อที่ระลึกสะพานมอญ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิว เสื้อผ้าชายหญิง ของเล่นเด็ก เสื้อผ้าชาวมอญ หมวกกระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้าชาวเขา เครื่องประดับสตรี เครื่องครัว ของใช้ในบ้าน สายตา เครื่องสำอาง จนถึงเครื่องแต่งกาย
เมื่อเดินมาบรรจบกับถนนศรีสุวรรณคีรีแล้ว เราย้อนกลับไปสี่แยกอีกครั้ง แล้วผ่านลานแสดงกลางสี่แยกตรงไปบนถนนเทศบาล 2 อีกฟาก(ที่จะไปบรรจบกับถนนสังขละบุรี) บนถนนเทศบาล 2 ฝั่งนี้ ช่องทางเดินซ้ายติดกับสวนสาธารณะและบ้านเรือน ส่วนช่องทางเดินขวาติดกับบ้านเรือนผู้คนทั้งหมด โดยบ้านทางขวาบางหลังก็เปิดหน้าร้านด้วย สำหรับข้าวของช่องทางเดินนี้มีแต่ของใช้ทั้งนั้น ของกินมีเพียงเล็กน้อย ขณะที่แผงลอยก็มีราวแขวน ขาโต๊ะแผงลอย โต๊ะเตี้ย รวมถึงผ้าฟาง แต่บางเจ้าก็มีเต็นท์พับคลุมด้วย เรามาดูของใช้ก่อน เริ่มตั้งแต่กระเป๋า เสื้อที่ระลึกสะพานมอญ งานบริการ งานแฮนด์เมด เสื้อผ้าชายหญิง งานแกะสลักไม้ สินค้าพื้นเมือง ของเล่นเด็ก โปสการ์ด เสื้อผ้าชาวเขา หนังสือ เครื่องประดับสตรี ภาพวาด ของตกแต่ง มุมเด็ก สินค้าแฟชั่น ของตกแต่ง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิว ของชำร่วย เครื่องสำอาง อุปกรณ์นวดกล้ามเนื้อ เสื้อผ้าเด็ก สายตา หมวก ของมีคม เปิดหมวก วัตถุมงคล ไปจนถึงเครื่องแต่งกาย ขณะที่ของกินก็มีเบเกอรี่ ขนมของฝากพม่า ขนมปัง ของกินเล่น และอาหารตามสั่ง
เมื่อมาถึงถนนสังขละบุรีแล้ว เราย้อนกลับไปสี่แยกอีกครั้ง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าช่องทางเดินบนถนนเทศบาล 5 เส้นนี้เป็นถนนคนเดินทิ้งท้ายที่จะไปบรรจบกับถนนเทศบาล 3 โดยแผงลอยคล้ายของเส้นทางเดินไปถนนสังขละบุรีก่อนหน้า แต่ที่เพิ่มมาคือ รถโมบายกับฟลายชีท สำหรับทางเดินนี้มีของใช้เกือบทั้งหมดเช่นกัน โดยช่องทางเดินซ้ายขวาของถนนติดกับบ้านเรือนทั้งสองฝั่ง บางหลังก็เปิดหน้าร้านด้วย ส่วนของใช้ที่ขายก็เริ่มจากเสื้อผ้าชายหญิง เสื้อผ้าชาวมอญ เสื้อผ้าเด็ก ของใช้ในบ้าน กระเป๋า ภาพวาด อุปกรณ์ซ่อมบำรุง ของชำร่วย ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เสื้อผ้าชายหญิง ของใช้ในบ้าน ของเล่นเด็ก เครื่องนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าชาวเขา รองเท้า ของใช้ส่วนตัว หมวก เครื่องประดับสตรี สินค้าแฟชั่น กล้องและอุปกรณ์ช่วยถ่ายภาพ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ไปจนถึงมือถือ ส่วนของกินก็มีโปสการ์ด หนังสือ ผลไม้ เครื่องดื่ม และขนมของฝากพม่า
ทีนี้วันเสาร์ปกติของถนนคนเดินที่นี่ เมื่อเราเดินมาบรรจบกับถนนเทศบาล 3 ก็ไม่มีอะไรต่อแล้ว แต่บางปีในช่วงปีใหม่มีการเพิ่มพื้นที่ในส่วนของงานกาชาดไปทางซ้ายขวาของถนนเทศบาล 3 และถนนเทศบาล 5 (ที่ไปบรรจบกับถนนเทศบาล 4 )ด้วย ทำให้จุดตัดตรงสี่แยกถนนเทศบาล 5 กับถนนเทศบาล 3 คึกคักต่อเนื่องทันที
เริ่มจากเวทีเล็กสำหรับการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นบริเวณสี่แยกก่อน จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปถนนเทศบาล 3 (ที่จะไปบรรจบกับถนนสังขละบุรี)ต่อ แถบนี้เน้นของใช้ แต่ของกินก็มี ข้าวของที่ขายเริ่มตั้งแต่ของใช้ส่วนตัว เสื้อผ้าชายหญิง ของปิ้งย่าง สินค้าถูกราคาเดียว เครื่องมืองานเกษตร เครื่องประดับและเครื่องแต่งกายสตรี ของปิ้งย่าง เสื้อผ้าเด็ก เครื่องนอน ขนมปัง นาฬิกา ของตกแต่ง ไปจนถึงของเล่นเด็ก
ถ้าเลี้ยวขวาที่สี่แยกเพื่อไปอีกฝั่งของถนนเทศบาล 3 (ที่ไปบรรจบกับถนนศรีสุวรรณคีรี)แทน ด้านนี้มีแต่ซุ้มของกิน ตั้งแต่อาหารทั่วไป อาหารทะเล และเบเกอรี่ รวมทั้งมีที่นั่งกินบริเวณสี่แยกด้วย
แต่ถ้าเราตรงไปบนถนนเทศบาล 5 (ที่จะไปบรรจบกับถนนเทศบาล 4)แทน โซนนี้มีแต่ความเพลิดเพลินทั้งนั้น ทั้งหมดก็มีสวนสนุก เกมต่างๆ ของกินเล่น ของปิ้งย่าง เครื่องดื่ม ไอศกรีม และมุมเด็ก
ตกเย็นวันเสาร์ในอำเภอสังขละบุรี สถานที่เดียวที่เป็นจุดนัดพบของนักท่องเที่ยวคือ ถนนคนเดินสังขละบุรี สงสัยพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านคงจัดแผงเสร็จแล้ว ยิ่งช่วงนี้มีงานกาชาดเข้ามาเอี่ยวด้วย ผู้คนเข้าเมืองตาหลิ่วทางไหน ทีมงานก็ขอหลิ่วตาตามทางนั้นแล้วกัน ไม่พูดพร่ำทำเพลงแล้ว เข้าไปเต็มอิ่มกับบรรยากาศดีกว่า
- เริ่มจากรถเข็นและแผงลอยริมถนนเทศบาล 1 หน้าอาคารตลาดสังขละบุรีก่อน เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านตั้งแผงเรียงหน้ากระดานตั้งแต่หน้าอาคารหลังใหญ่ไปจนถึงหน้าอาคารหลังเล็ก ดูตัวอย่างสักสองแผงดีกว่า
ซ้ายบน – เปิดหัวมาก็เจอสินค้าพม่าขึ้นชื่อที่สุดทันที ทางซ้ายคือ“แป้งทานาคา” โดยมีแบบไม้สดพร้อมฐานนำไปฝนและแบบสำเร็จรูปบรรจุขวดและตลับ(ซึ่งมีสบู่ทานาคาเพิ่มความชุ่มชื้น ครีมทานาคาป้องกันแสงยูวี และแป้งทานาคาแบบดั้งเดิมกับแบบผสมคือ มะลิ กุหลาบ มะนาว และแตงกวา) ขณะที่ทางขวาเป็นของกินเล่นจากพม่าสารพัด เช่น ขนมตุ้บตั้บ ถั่วตัด ขนุนทอดกรอบ ถั่วปากอ้า เมล็ดทานตะวัน มันฝรั่งทอดกรอบ คุกกี้รสส้ม กาแฟพม่า ฯลฯ
ขวาบน – แม่ค้ารถเข็นสะบัดแป้งโรตีสนุกสนานเลย หลังจากราดนมน้ำตาลแล้ว ใครอยากตีไข่ใส่หรือเพิ่มกล้วยอีก ก็เรียนเชิญ
- จากนั้นเรามาเข้าถนนเทศบาล 5 กัน เริ่มจากฝั่งซ้ายที่ติดกับสวนสาธารณะก่อน
ซ้ายกลางบน – ผู้คนเดินขวักไขว่ไปมา ร้านรวงตั้งกันพรึบพรับทั้งสองด้าน บนถนนเทศบาล 1 ครึกครื้นไปด้วยของกินล้วนๆ
ขวากลางบน - แม่ค้าในเต็นท์ขายอาหารพื้นเมืองทั้งหมด 7 อย่าง สำหรับคนที่อยากลองอาหารท้องถิ่น เจ้านี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก และอาหารพื้นเมืองที่ว่ามียำหัวหมู น้ำยาหยวกกล้วย ข้าวซอยน้ำยาไก่ ยำขนมจีน ยำใบบัวบก น้ำยากะทิ และยำใบชา
ซ้ายกลางล่าง – คนขายตักแกงใส่ถุงเตรียมไว้เลย เมนูวันนี้มีผัดเผ็ดปลาดุก จับฉ่าย ไข่พะโล้ ยำหมูยอ แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย ต้มยำไก่ แกงจืดเต้าหู้ และแกงเทโพ
ขวากลางล่าง – งานยำก็มาด้วย ตัวยืนพื้นมีกุ้ง ปูม้า หอยแครง หมึก เล็บมือนาง ปูอัด ไข่เยี่ยวม้า แฮม วุ้นเส้น ไส้ตัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และหมูยอ
ซ้ายล่าง – พ่อค้าแผงนี้ทอดสินค้าต่างๆดังนี้ เอ็นไก่ หมูแดดเดียว แหนมเอ็นไก่ แหนมซี่โครง และหมูสามชั้น ลูกค้าคนไหนอยากได้กี่ขีด ก็เผยความต้องการไป
ขวาล่าง – สำหรับรายการอาหารเต็นท์นี้ ในหมวดปิ้งๆย่างๆมีลูกชิ้นเนื้อล้วน ลูกชิ้นเอ็นเนื้อ ลูกชิ้นหมูล้วน ลูกชิ้นเอ็นหมู ลูกชิ้นปลา และไส้กรอก ขณะที่หมวดทอดมีเกี๊ยวห่อลูกชิ้นทอดและเนื้อไก่ชุบแป้งทอด
ใครหิวก็ซื้อเลย งานนี้ไม่ต้องยั้ง
ซ้ายบน - พ่อค้าเรียกขนมที่ทอดอยู่นี้ว่า"ซาลาเปาทอด" ข้างในเป็นไส้ถั่ว
ขวาบน – รถพ่วงข้างคันนี้มีชาเขียว ชาเขียวคาราเมล ชาเขียวมะนาว นมเย็น ชำดำเย็น ชามะนาว บ๊วยโซดา บ๊วยมะนาว น้ำแดงโซดา น้ำเขียวโซดา นมสด น้ำบ๊วย ชาเย็น กาแฟเย็น กาแฟร้อน มอล์ตรสช็อกโกแลต โกโก้ ช็อกโกแลต นมเย็น และน้ำผึ้งมะนาว
- เข้าสู่ช่องทางเดินฝั่งขวาที่ติดกับอาคารตลาดสังขละบุรีหลังใหญ่บ้าง
ซ้ายกลางบน – ผู้คนยังคงเบียดเสียดเหมือนเดิม ส่วนของกินจัดหนักไม่เปลี่ยนแปลง
ขวากลาง - เมนูเด็ดอย่างหนึ่งก็คือ หมูจุ่ม(หรือหมูจิ้มจุ่ม)พม่า ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหมูและเครื่องในหมู โดยแม่ค้าจะหั่นเป็นชิ้นเล็กๆเสียบไม้ไว้ แล้วใส่ในหม้อกลางโต๊ะที่มีน้ำซุปร้อนอยู่ ถ้าเก้าอี้ตัวไหนว่าง ลูกค้าเข้ามานั่งได้ จากนั้นหยิบไม้ที่อยากกินขึ้นมา ทางร้านมีถ้วยให้คนละใบพร้อมถ้วยน้ำจิ้มเล็กๆ ส่วนขวดโหลน้ำจิ้มพร้อมช้อนตักอยู่ข้างๆ ใครอยากกินกี่ไม้ ก็ทยอยหยิบจากหม้อไป ในหม้อยังมีทัพพีไว้ตักน้ำซุปและช่วยกวาดไม้จิ้มจุ่มที่จมลงก้นหม้อด้วย เมื่อกินเสร็จ ก็นับจำนวนไม้ จ่ายเงิน เป็นอันเสร็จพิธี
ซ้ายกลางล่าง - ใครชอบเรื่องย่างเรื่องเผา มุมนี้มีปลา หมึก และกุ้งรอเราอยู่
ซ้ายล่าง – แผงหอยทอดของพ่อลูกคู่นี้กลายเป็นหนึ่งในเจ้าประจำของถนนคนเดินไปแล้ว
ขวาล่าง – มาถึงเรื่องของไก่บ้าง แม่ค้ามีอกไก่ทอด โครงไก่ทอด ปีกไก่ทอด น่องไก่ทอด หนังไก่ทอด เศษหนังทอด เอ็นไก่ทอด และเนื้อไก่ชุบแป้งทอด ส่วนข้าวเหนียวกับน้ำจิ้มไม่ต้องห่วงเลย
เดินกันแบบอิ่มกาย
ซ้ายบน - บัวลอย(ไข่หวาน)เจ้านี้มีผู้หญิงสองคนช่วยกันก็จริง แต่ก็เกือบขายไม่ทันคนสั่ง
ขวาบน – แม่ค้าขนมหวานมีตัวเลือกคือ ขนมโป๊งเหน่ง ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวถั่วดำ กล้วยบวดชี และแกงบวดมันเทศ
- ถนนเทศบาล 5 ก็เสร็จสมบูรณ์แล้ว ตอนนี้ให้ตรงไปสี่แยก แล้วเลี้ยวขวาไปถนนเทศบาล 2 ที่มุ่งหน้าสู่ถนนสุวรรณคีรีต่อ โดยเริ่มต้นจากช่องทางเดินฝั่งซ้าย ตรงข้ามกับอาคารตลาดสังขละบุรี
ซ้ายกลาง – นักท่องเที่ยวยังคงสู้ไม่ถอย สำหรับย่านนี้มีของกินของใช้ควบคู่กัน แต่ของกินกำชัยอยู่
ขวากลางบน – สามีภรรยาคู่นี้นำแกงรสจัดจ้านมานำเสนอ ผัดกันร้อนๆหลังแผงเลย เริ่มจากแกงกระดูกอ่อน ผัดเผ็ดกบ แกงกวาง แกงหมูป่า ไปจนถึงแกงเป็ด
ซ้ายล่าง - ส่วนใครด้อมๆมองๆปลาอินทรีสดแช่น้ำปลา ทางร้านมีหั่นชิ้นใส่ถ้วยให้ชิมฟรีก่อนตัดสินใจ
ขวากลางล่าง - แผงนี้ทำไข่เจียวออกมาหลายเวอร์ชั่น ทั้งชีส ชะอม โหระพา เต้าหู้ไข่ และถั่วงอก (สนใจหน้าแบบไหน ลองสอบถามแม่ค้าดู)
ขวาล่าง - ท้ายถนนคนเดินติดกับถนนศรีสุวรรณคีรีเป็นลานชาบู นอกจากเต็นท์เตรียมอาหารที่เห็นแล้ว หน้าเต็นท์ก็จัดเรียงโต๊ะเก้าอี้ไว้พร้อม
เสวนาเรื่องของกินต่อ
ซ้ายบน - เมนูนี้คือหมาล่า โดยมีเบคอนพันเห็ด เห็ดออรินจิ ผักรวม เนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อวัวเป็นแกนนำ
ขวาบน – แผงนี้เน้นหมึกย่างเหลืองอร่ามด้วยสีของขมิ้น
ซ้ายกลางบน – ตอนเดินผ่านร้านนี้ กลิ่นหอมฉุยลอยมาแต่ไกลเลย คนขายกำลังทำเนยกรอบอยู่
ขวากลางบน - มุมนี้ขายมะพร้าวน้ำหอมเป็นลูก น้ำมะพร้าวใส่น้ำแข็งและแบบปั่น ชื่นชอบแบบไหน เดี๋ยวแม่ค้าจัดให้
ซ้ายกลางล่าง – ป้าคนนี้มีรังผึ้งแท้ๆมาให้เห็น ถังรองและตัวกรองน้ำผึ้งก็มี สุดท้ายบรรจุใส่ขวดจำหน่าย
ขวากลางล่าง - ฟิกเกอร์จากภาพยนตร์ดังที่เด่นกว่าใครคือ“ฮัลก์” นอกนั้นยังมีขบวนการนินจาเต่า วูฟเวอร์รีน โฟรเซจาก Maskrider ทรานฟอร์เมอร์ส Hellboy ชินจัง Ironman และ Deadpool รวมทั้งการ์ตูนอีกนับไม่ถ้วนในรูปแบบพวงกุญแจ
ซ้ายล่าง – อีกหนึ่งสีสันของถนนคนเดินก็คือ“เสื้อที่ระลึกสังขละบุรี” โดยนายแบบที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้คือ“สะพานมอญ”
ขวาล่าง – เสื้อยืดแขนสั้นแขนยาว กางเกงยีนส์ขาสั้นขายาว และกางเกงผ้าคอตตอนขาสั้นพร้อมให้สุภาพบุรุษได้เลือกเฟ้นแล้ว
ตอนนี้เปลี่ยนไปอีกฟากของช่องทางเดินที่ติดกับอาคารตลาดบ้าง
ซ้ายบน – ประชาชนอุ่นหนาฝาคั่งตลอด ของกินของใช้ไม่พร่องเลย แต่แผงของกินยังเยอะกว่าเช่นเคย
ขวาบน – หมูจิ้มจุ่มหรือหมูจุ่มเรียกลูกค้าได้เสมอ แถมมีให้เลือกหลายร้าน เท่าที่เห็นทั้งถนนคนเดินก็ปาไป 5 ร้านแล้ว ถูกใจร้านไหนก็ดิ่งเข้าร้านนั้น
ซ้ายกลางบน – จากสินค้าบนโต๊ะ ก็เท่ากับประกาศตัวว่า ร้านนี้ขอโดดเด่นเรื่องตำ เริ่มตั้งแต่ตำแตงปู-ปลาร้า ตำไทย ตำปู-ปลาร้า ตำโคราช ตำไทย-ปู ตำหอยดอง ตำซั่ว ตำหมูยอ ตำป่า ตำลาว ตำมั่ว ตำไทย-ไข่เค็ม ไปจนถึงตำทะเล
ขวากลางบน – แม่ค้าร้านนี้มีกระเพาะปลาสูตรราชบุรีมาเพิ่มรสชาติ
ซ้ายกลางล่าง – ส่วนลุงคนนี้มีก๋วยจั๊บมาฝากด้วยคน
ขวากลางล่าง – แผงนี้เรียงอาหารกล่องเป็นริ้วขบวนทีเดียว คนขายหลังร้านตระเตรียมสำรับไม่หยุดมือ รายการอาหารมีดังนี้ ข้าวคลุกกะปิไข่มะตูม ข้าวหมูหวานไข่ดาว ข้าวหมูหวานไข่มะตูม ข้าวผัดหมู ข้าวกะเพราหมูไข่มะตูม ข้าวหมูทอดไข่ดาว ผัดวุ้นเส้น และผัดหมี่เหลือง
ซ้ายล่าง – ไก่ย่างชิ้นโตกำลังร้อนระอุอยู่เลย
ขวาล่าง – อีกหนึ่งของว่างที่ถ้าไม่เห็น คงต้องเคลือบแคลงใจเป็นแน่ นั่นคือ“ทองโยะ”(หรือขนมกินเล่นของชาวกะเหรี่ยง)ที่ทำมาจากข้าวเหนียวดำ แล้วราดนมข้นหวานกินกันเพลินๆ
ไปชมกลยุทธ์การขายของพ่อค้าแม่ค้าต่อ
ซ้ายบน – น้องหนุ่มสองคนช่วยกันคั้นน้ำอ้อยแบบไม่แตะเบรก
ขวาบน – ตอนนี้หาอะไรชื่นใจลงท้องสักเล็กน้อยกับน้ำผลไม้เจ้านี้ ช้อยส์ผลไม้ปั่นมีแอปเปิลแดง มะเขือเทศ ส้ม มะนาว กล้วยหอม แตงโม กีวี่ และแคร์รอต ส่วนใครอยากเพิ่มความกลมกล่อม ก็ใส่น้ำผลไม้หัวเชื้อลงไปได้ หรืออยากปั่นเครื่องดื่มให้พลังงานกับเยลลี่รวมรสผลไม้ก็มี ส่วนของที่ไม่ปั่นก็คือน้ำอัดลมและน้ำดื่ม
ขวากลางบน – ยังคงเป็นขวัญใจประจำอำเภออย่างต่อเนื่องกับผลิตภัณฑ์ความงามจากแป้งทานาคาสารพัดเวอร์ชั่นและของกินเล่นกับกาแฟจากพม่าอีกชุดใหญ่ ที่พิเศษของร้านนี้คือ เราจะเห็นพิมพ์สำหรับแต้มแป้งทานาคาเป็นลวดลายบนแก้มด้วย
ซ้ายกลาง – เสื้อมัดย้อมก็มาเช่นกัน
ขวากลางล่าง – ทิ้งทวนช่องทางเดินนี้กับป้าในซุ้มที่มีผ้าถุง เสื้อกะเหรี่ยง ชุดเด็กดอย และชุดมอญมาให้เลือก
- กลับมาสี่แยกอีกครั้ง แล้วเดินเข้าช่องทางเดินซ้าย(ของถนนเทศบาล 2)ที่ติดกับสวนสาธารณะเลย
ซ้ายล่าง – ฟากนี้ล้นหลามไปด้วยของใช้ ส่วนนักท่องเที่ยวก็ให้การตอบรับคับคั่ง
ขวาล่าง – แผงนี้มีแม่ลูกสองคนเป็นหัวเรือจำหน่ายสินค้าวัยรุ่นหญิง ได้แก่ เสื้อยืดคอกลมแขนสั้นและแขนยาว เสื้อถัก ยางรัดผม พวงกุญแจ ริชแบนด์ ตัวห้อยกระเป๋า และหมวก
ท่ามกลางอากาศเย็น ราตรีนี้มีแต่ความสุข
ซ้ายบน - ที่คล้องกระเป๋าชิคๆมาแบบเต็มเหนี่ยวจริงๆ ส่วนด้านบนเป็นปิ่นปักผม
ขวาบน – มาตำแหน่งนี้ครั้งใด ทีมงานเจอแผงยาวของพ่อค้าอุปกรณ์นวดกล้ามเนื้อและคลายเส้นทุกครั้ง
ซ้ายกลางบน - ป้าคนนี้ขายของเล่นให้ลูกค้าอยู่ แผงค่อนข้างโอ่อ่าทีเดียว สินค้าทั้งหมดมีตุ๊กตาเจ้าหญิง รถแข่ง อุปกรณ์ตกปลา ชุดทำขนมเค้ก ชุดไซต์งานก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ รถบรรทุก พัดลมใบพัดพลาสติก เครื่องครัว รถโม่ปูน และเครื่องดนตรี
ขวากลาง – ผลงานสวยๆเกี่ยวกับสังขละบุรีไม่ว่าจะเป็นสะพานมอญ เมืองบาดาล แพริมเขื่อน ชีวิตความเป็นอยู่ และสัตว์โลก ทุกอย่างรังสรรค์ผ่านปลายพู่กันด้วยสีอะคริลิกจากนักวาดที่กำลังหันหลังให้เรา
ซ้ายกลางล่าง - แผงนี้สาธิตการทอผ้าให้เห็นว่าทำเช่นไร เพราะที่นี่คือศูนย์ฝึกทักษะและการเรียนรู้ที่มาประชาสัมพันธ์ให้เด็กโตและวัยรุ่น โดยมีคอร์สต่างๆให้เลือก สนใจก็เข้าไปสอบถามได้
- จากนั้นเปลี่ยนไปฝั่งตรงข้ามของถนนที่ติดบ้านเรือนบ้าง
ซ้ายล่าง – ทุกช่องทางเดินอบอวลไปด้วยการซื้อขายตลอด
ขวาล่าง – บ้านหลังนี้เปิดหน้าร้านจำหน่ายเสื้อผ้าให้ทุกเพศทุกวัย เริ่มจากเสื้อแจ๊กเก็ต เสื้อยืดแขนสั้นและแขนยาว กางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ตแขนสั้นและแขนยาว กางเกงขาสั้น กางเกงขาสามส่วน เสื้อลูกไม้ เดรส และเสื้อเด็ก
นาทีนี้มีแต่สินค้าอุปโภครายล้อมตัวเรา
ซ้ายบน – ซุ้มเสื้อกะเหรี่ยง ชุดมอญ ผ้าถุงและผ้าปาเต๊ะมีตัวเลือกบนถนนคนเดินมากมาย เจ้านี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากแป้งทานาคา หวีไม้ ปากกาไม้ และไปป์ไม้ด้วย
ขวาบน - แม่ค้าร้านนี้มีดีเรื่องดีไอวายทีเดียว ความคิดสร้างสรรค์ของเขาผลิดอกออกผลเป็นเทรนด์แฟชั่นและแนวยิปซีขึ้นมาได้ โดยหาวัตถุดิบจากพม่าและไทย ออกแบบและประดิษฐ์เองตั้งแต่สร้อยคอ กำไล สร้อยข้อมือ ปิ่นปักผม ต่างหู จนถึงสายข้อมือ ส่วนลวดลายมีเกินจะแจกแจง
ขวากลาง – แผงนี้เป็นเรื่องราวของมีดเดินป่าเดินเขาทั้งนั้น เช่น มีดพับ ขวานเดินป่า มีดการ์ด มีดใบตาย มีดพก ฯลฯ
ซ้ายกลาง – มุมนี้เป็นหน้าที่ของแว่นตาแฟชั่น
- เมื่อวนกลับมาสี่แยกอีกครั้ง คราวนี้ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเทศบาล 5 ที่ไปตัดกับถนนเทศบาล 3 ต่อ ถนนช่วงนี้มีบ้านเรือนทั้งสองฟากและแบ่งเป็นสองช่องทางเดินเหมือนเดิม ถ้านับจากสี่แยกไป ทีมงานขอเริ่มต้นช่องทางเดินซ้ายก่อน
ซ้ายล่าง – นักท่องเที่ยวสะพัดไปทุกทิศทาง
ขวาล่าง – ความหวานแหววของร้านลอยมาแต่ไกลเลย สีสันสะดุดตาตั้งแต่แรกพบ ทั้งรองเท้าการ์ตูน ผ้าเช็ดตัว และผ้าห่มสำลี
ยังอยู่บนถนนเทศบาล 5 ฝั่งซ้ายต่อ
ซ้ายบน – แม่ค้ารวบรวมความเป็นกิ๊ฟช็อปเข้าไว้ด้วยกัน เช่น ดินสอเขียนคิ้ว แหนบ หวี ปากกา กิ๊บติดผม ยางรัดผม ที่คาดผม นาฬิกาแฟชั่น แหวน ยาทาเล็บ ฯลฯ ทั้งนี้มีรองเท้าแตะและเสื้อผ้าวัยรุ่นด้วย
ขวาบน – ชายหญิงคู่นี้จำหน่ายขาตั้งกล้องวีดีโอ ตัวยึดมือถือติดกระจกรถ ลำโพงพกพา ขาตั้งแท็บเล็ต ปลั๊กแปลงไฟ สายยูเอสบี หูฟัง เมมการ์ด การ์ดรีดเดอร์ สายชาร์จ และที่ชาร์จในรถ
- เรามาเยี่ยมฝั่งขวาบ้าง
ซ้ายกลางบน – คนเยอะๆก็หรรษาดี ตอนนี้สะกดคำว่า“เหงา”เกือบไม่ถูก
ขวากลาง – แม่ค้ามีผ้าถุงสำเร็จรูปในเวอร์ชั่นกระโปรงและกางเกงขายาว รวมทั้งผ้าถุงแบบออริจินอลมานำเสนอเพิ่ม
ซ้ายกลางล่าง – พ่อค้าเจ้านี้จำหน่ายรองเท้าแตะแบบหนีบและแบบสวม รวมถึงรองเท้าเด็กด้วย
- ถนนคนเดินทั้งสี่สาย แปดช่องทาง ได้รับเกียรติจนครบแล้ว ต่อไปทีมงานขอเข้าโซนกาชาดต่อเลย ไหนๆมาถึงขนาดนี้ ก็ขอสุดฤทธิ์สุดเดชสักตั้ง
ขวาล่าง - แล้วเราก็เข้าสู่งานกาชาด จุดนี้อยู่บริเวณถนนเทศบาล 5 ที่ตัดกับถนนเทศบาล 3 แล้วตรงขึ้นไปตามถนนเทศบาล 5 (ที่จะไปบรรจบกับถนนเทศบาล 4)ต่อ (จากภาพ โซนนี้มีแต่เสียงสรวลเสเฮฮาของเด็กๆ รวมทั้งเสียงเซ็งแซ่ของวัยรุ่นและผู้ปกครองทั่วลาน แต่ก่อนอื่น ชิงช้าสวรรค์ได้ใจนักท่องเที่ยวมากเพราะเต็มทุกกระเช้า ใครซื้อตั๋วทีหลัง คงต้องยืนเก้อไปก่อน ส่วนด้านหลังเป็นม้าหมุน ซึ่งเด็กๆเมินไม่ลงแน่ๆ ขณะที่ด้านหน้าคือ ขบวนรถไฟปู๊นปู๊น)
ซ้ายล่าง – เป็นทีของวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ที่มาประลองความแม่นกับซุ้มยิงปืน
กำลังติดลมบนเลย ช่วงสุดท้ายของถนนคนเดินก็เวียนมาบรรจบเสียแล้ว แอบถอนหายใจเบาๆ
ซ้ายบน – สวนสนุกแถบนี้มีร้านของกินอยู่หลายเจ้าเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ ไอศกรีมหลอดและเครื่องดื่มแช่เย็นต่างๆ เริ่มตั้งแต่เบียร์ น้ำดื่ม ชาเขียว ไปจนถึงน้ำอัดลม
- ทีนี้เดินถอยหลังออกจากโซนชิงช้าสวรรค์กลับมาที่สี่แยกที่มีถนนเทศบาล 5 ตัดกับถนนเทศบาล 3 ใหม่ ทั้งซ้ายและขวาของถนนเทศบาล 3 รื่นเริงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ซ้ายบน – จากสี่แยกมองไปถนนเทศบาล 3 ฝั่งเต็นท์ของกินก่อน แผงจะไม่ลึกนักและหน้าเต็นท์มีที่นั่งกินอย่างที่เห็น ส่วนอาหารในเต็นท์จำหน่ายของยำ ข้าวผัด โดนัท ทอดมัน ข้าวคลุกกะปิ และกุ้งอบวุ้นเส้น
ซ้ายกลางบน - และจากสี่แยกเช่นกัน แต่มองไปอีกฝั่ง ด้านนี้มีหนึ่งช่องทางเดินเท่านั้น โดยฝั่งซ้ายเป็นแผงลอยตามบ้านเรือน ขณะที่ฝั่งขวาเป็นเต็นท์สินค้ายาวไปจนถึงถนนสังขละบุรีที่หน้าโรงพยาบาล ซึ่งของกินของใช้ไม่มีใครอ่อนข้อให้ใครเลย (จากภาพ ผู้คนไม่มีทีท่าว่าจะมอดไปไหน ตามมาสมทบกันเรื่อยๆ)
- เราไปชมช่องทางเดินนี้สักสามเจ้า
ขวากลางบน – กางเกงในเด็กเล็กและเด็กโตพรั่งพร้อมด้วยลายการ์ตูนมากมายกลายเป็นจุดดึงดูดสายตาเด็กๆทันที
ซ้ายกลางล่าง - ซุ้มของเล่นเด็กที่มีพิธีกรภาคสนามคอยบรรยายผ่านไมโครโฟนให้ผู้คนที่ห้อมล้อมฟัง เริ่มจากบอกสรรพคุณและสาธิตวิธีเล่น ไปจนถึงเฉลยราคาต่ำสุด ชิ้นใหญ่ก็มีราคาหน่อย ชิ้นเล็กก็ถูกลงมาหน่อย ใครสนใจก็ยกมือ ยื่นเงิน แล้วรับถุงใส่ของไปได้
ขวากลางล่าง – เต็นท์ใหญ่ประเภทสินค้าประหยัดราคาเดียวยังอ้าแขนรับลูกค้าไม่หยุด ข้าวของเจ้านี้ก็เช่น ถังน้ำ แปรงขัดโถส้วม กะละมัง ขันน้ำ ตะกร้า กระติกน้ำ ใยขัด ฝอยสแตนเลส พรมเช็ดเท้า ทับเบิลแวร์ น้ำยาล้างจาน ที่คีบน้ำแข็ง ยางรัดของ ราววงกลมแขวนผ้า ง่ามยิงนก ลังพลาสติก เทปกาว กรรไกรตัดเล็บ ไม้จิ้มฟัน หวี คอตตอนบัด กรรไกร ทิชชู่ ช้อน ฟองน้ำ มีด ปากกาไวต์บอร์ด ฯลฯ
- ความเพลิดเพลินบนถนนคนเดินที่นี่ถือว่า เป็นไปตามเจตนารมณ์แล้ว ตอนนี้มีอีกสองประเด็นที่อยากกล่าวทิ้งทวน
ซ้ายล่าง - จากถนนเทศบาล 1 แล้วเดินเข้าช่องทางเดินบนถนนเทศบาล 5 ที่ติดฝั่งตลาด เลยแผงลอยริมทางขึ้นไปบนฟุตบาทจะมีร้านอาหารริมอาคารตลาดสังขละบุรีหลังใหญ่ที่จำหน่ายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว และเครื่องดื่มติดกันตลอดแนว นอกจากตลาดเย็นในวันธรรมดาแล้ว ร้านเหล่านี้ก็ได้อานิสงค์จากถนนคนเดินในวันเสาร์ไปเต็มๆ ดังจะเห็นได้จากนักท่องเที่ยวนั่งกินเต็มทุกโต๊ะ
ขวาล่าง – และบริเวณกลางสี่แยกที่ถนนเทศบาล 5 ตัดกับถนนเทศบาล 2 มีลานแสดงกลางแจ้งของเหล่าเด็กน้อยเด็กโตต่างวัฒนธรรมให้ประชาชนยืนล้อมวงชมอย่างพร้อมเพรียงด้วย
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
361 | 866 | 301327 |